top of page

ใช้สารหลอนประสาทในปริมาณน้อยเวิร์กจริงไหม?



ปัจจุบันมีการค้นคว้าพัฒนายารักษาโรคจิตเวชมากมาย โดยยาหลอนประสาท (Psychedelics) เป็นหนึ่งในสารที่ได้รับความสนใจเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า โรค Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) และโรคจิตเวชอื่น ๆ


สารหลอนประสาท เช่น เห็ดไซโลไซบิน สาร LSD หรือยาอี ออกฤทธิ์โดยทำให้ระบบประสาทด้านการรับรู้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก แยกออกจากร่างกาย ไม่สามารถแยกแยะความเป็นจริงและความฝันได้ ซึ่งผลจากการใช้สารหลอนประสาทอาจเป็นประสบการณ์ที่ให้ความรู้สึกดีหรือหลอนน่าสะพรึงกลัวจากภาพหลอน หูแว่ว และเกิดอาการหวาดระแวงได้เช่นกัน


งานวิจัยต่าง ๆ ได้ศึกษาการใช้สารหลอนประสาทเหล่านี้ โดยพบว่าหากใช้ในปริมาณ “น้อยกว่าปกติ” คือ “1 ใน 10 ส่วน” ของขนาดที่ใช้ปกติในการเสพ (Microdosing) จะช่วยลดอาการของโรคทางจิตเวชต่าง ๆ ได้โดยไม่มีอาการประสาทหลอน


ในกลุ่มคนที่สนับสนุนการใช้สารหลอนประสาทในปริมาณน้อยกล่าวว่าประโยชน์ที่ได้รับมีมากมาย เช่น ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ดีขึ้น มีพลังงานมากขึ้น จดจ่อกับการทำกิจกรรมได้ดียิ่งขึ้น


แต่หลากหลายงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กลับพบผลลัพธ์ตรงกันข้าม เช่น พบว่า สมองของกลุ่มที่ใช้ปริมาณน้อยเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับสมองของกลุ่มที่ใช้สารมาก ในอีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าการใช้เห็ดที่มีสารประสาทหลอนปริมาณน้อย “ไม่สามารถ” ทำให้รู้สึกดีขึ้นและยัง “ทำให้สุขภาพจิตแย่ลง” ด้วย


ปัจจุบัน “ยังเป็นที่ถกเถียง” ในวงการแพทย์และจิตวิทยาว่าสามารถใช้รักษาและบรรเทาอาการทางจิตเวชได้จริงหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น การใช้สารประสาทหลอนเหล่านี้อาจ “ผิดกฎหมาย” ในบางท้องถิ่นเนื่องจากถูกจัดอยู่ในหมวดสารเสพติด


ดังนั้นสารหลอนประสาทนั้นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดสำหรับการบรรเทาอาการทางจิตเวช และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากเกี่ยวกับการใช้สารเหล่านี้ทางการแพทย์ หากใครที่กำลังพิจารณาใช้สารเหล่านี้อยู่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและติดตามผลการวิจัยล่าสุดอย่างใกล้ชิด มิเช่นนั้นประโยชน์ที่ได้อาจไม่คุ้มกับผลเสียที่ตามมา


Sources:

1. Microdosing: Does It Work for ALL Drugs? A Psychiatrist Explains by Dr. Tracey Marks https://www.youtube.com/watch?v=fwI63rMfKNs&ab_channel=Dr.TraceyMarks

2. Hallucinogens in Mental Health: Preclinical and Clinical Studies on LSD, Psilocybin, MDMA, and Ketamine. (2021). DOI: 10.1523/JNEUROSCI.1659-20.2020

ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

留言


bottom of page